วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทสรุป : การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (21st CSK)

     การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา บ้านท่าเสาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าเสา
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา
เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดกับนักเรียนและเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระบวนการพัฒนา ดังนี้

๑. การค้นหาความรู้
      การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา บ้านท่าเสา ได้มีการค้นหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และศึกษาในเรื่องการจัดการฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา สำรวจความสนใจและความต้องการของนักเรียน จัดทำใบความรู้แต่ละฐานเรียนรู้ ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น

๒. การสร้างและการแสวงหา
       ครูเข้ารับการศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ต่างๆเพื่อนำมาจัดฐานการเรียนรู้จำนวน ๒๓ ฐานการเรียนรู้ประกอบด้วย การทำปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การปลูกพืชสวนครัว การเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงกบ การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงปลานิลการปลูกหญ้าแฝก การรีไชเคิลกระดาษ ธนาคารขยะ ส้วมสุขสันต์ ศาลาประชาธิปไตย คำสอนพุทธทาสภิกขุ English garden ธง สวนวรรณคดี สวนคณิตศาสตร์ พุทธธรรมนำใจ สหกรณ์ร้านค้าลานธรรมแผ่นดินทองและพืชไฮโดรโพรนิกส์ โดยมีการสร้างและแสวงหาความรู้ ดังนี้
            ๒.๑ นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาจัดสร้างฐานการเรียนรู้
            ๒.๒ ครูที่มีความรู้ในแต่ละฐานสามารถถ่ายทอดความรู้ แนะนำความรู้ให้กับครูทุกช่วงชั้น
            ๒.๓ จัดหานักเรียนที่มีความสนใจและความสามารถพิเศษในการดูแลและให้ความรู้กับเพื่อน
            ๒.๔ รวบรวมความรู้ทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ จัดทำใบความรู้และใบงานให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละฐานการเรียนรู้

๓. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ
      โรงเรียนได้มีการจัดการความรู้ให้เป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายตั้งแต่คณะครู นักเรียน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้บริหารในการจัดการความรู้ให้เป็นระบบ ดังนี้
             ๓.๑ คณะครู นักเรียน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกันจัดทำใบความรู้และใบงานแต่ละฐานการเรียนรู้จัดทำเป็นรูปเล่ม
             ๓.๒ จัดทำแผ่นพับเอกสารเผยแพร่ แนะนำฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา

๔. การประมวลและกลั่นกรองความรู้
    ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของใบความรู้ ใบงานและนำไปทดลองใช้ ปรับปรุง แก้ไข
สำรวจความพึงพอใจของนักเรียนต่อการศึกษาในฐานการเรียนรู้ เขียนรายงานผลการใช้ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษาเผยแพร่ความรู้ให้กับโรงเรียนอื่น

๕. การเข้าถึงความรู้
    ในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา จำนวน ๒๓ ฐาน ใบความรู้ในแต่ละฐานใบงาน เอกสารแผ่นพับแนะนำการศึกษาฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษาทั้ง ๒๓ ฐาน ให้กับผู้ที่มีความสนใจ สามารถศึกษาหาความรู้ได้โดยง่าย และนำเข้าร่วมจัดนิทรรศการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑ ที่จัดขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนยังได้จัดทำเอกสารต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ผู้สนใจได้แนวทางสามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนี้
            ๕.๑ เอกสารแผ่นพับแนะนำการศึกษาฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษาทั้ง ๒๓ ฐานเรียนรู้
            ๕.๒ บัญชีรายรับการผลผลิตในแต่ละฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา
            ๕.๓ สมุดบันทึกการทำความดีของนักเรียน
            ๕.๔ สมุดธนาคารขยะ
            ๕.๕ สมุดบันทึกธนาคารความรู้
            ๕.๖ สมุดบันทึกการออมทรัพย์
            ๕.๗ สมุดบันทึกการเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา
            ๕.๘ เอกสารการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Approach)

๖. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้
              ๖.๑ คณะศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆใน จำนวน ๓๘ หน่วยงานที่มาศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนบ้านท่าเสาก่อให้เกิดการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้
              ๖.๒ คณะครูนำนักเรียนและผลงานไปร่วมจัดนิทรรศการในงาน “เปิดบ้านนวัตกรรมการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยอง เขต ๑
               ๖.๓ นำผลงานร่วมจัดนิทรรศการ ในงาน วันวิชาการของกลุ่มค่ายพระเจ้าตาก

๗. การเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้
           ๗.๑ ครูในโรงเรียนสามารถเผยแพร่ความรู้ ให้กับคณะครูและนักเรียนที่มีความสนใจได้
           ๗.๒ ครูสามารถใช้ฐานการเรียนรู้ไปใช้สอนนักเรียนในชั่วโมงเรียน ทำให้นักเรียนได้รับความรู้
และนำความรู้ไปถ่ายทอดสู่ครอบครัว ชุมชนได้
            ๗.๓ นำผลผลิตที่ได้มาจัดการในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน
            ๗.๔ คณะครูจากโรงเรียนอื่น ๆ มาศึกษาดูงาน และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการ
เรียนรู้กับนักเรียน

๘. การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
                ๘.๑ คณะครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารและชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบความคิด การจัดการ การลงมือปฏิบัติการในก่อสร้างพัฒนา และร่วมเป็นวิทยากรและเรียนรู้ไปด้วยกันโดยใช้ระยะเวลาประมาณ ๒ ปีในการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้
                ๘.๒ ภาคเอกชนและหน่วยงานราชการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณได้แก่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด (มหาชน) บริษัท ป.ต.ท.จำกัด (มหาชน) สำนักงานสหกรณ์จังหวัดระยอง ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑ ที่มีส่วนในการสนับสนุนงบประมาณและการอบรมพัฒนาบุคลากรและนักเรียนของโรงเรียน

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษา บ้านท่าเสา
ความเป็นมาและความสำคัญ
          สภาพของสถานการณ์ปัจจุบันในสังคมไทยชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาวิกฤติอันน่าเป็นห่วงจากการพัฒนาที่ขาดความสมดุล โดยมุ่งสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่ประการเดียวทำให้บุคคลและสังคมรวมทั้งโครงสร้างและกลไกบริหาร และการจัดการต่าง ๆ ปรับตัวตามไม่ทันเกิดความไม่สมดุล ระหว่างการพัฒนาทางวัตถุกับการพัฒนา ทางจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งส่งผลกับประเทศที่ยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นส่วนซึ่งสร้างปัญหาทั้งระบบให้กับสังคมไทย ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากกระแสวัตถุนิยมและวัฒนธรรมการบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนถึงคุณธรรมจริยธรรมของประชาชน จนเป็นปัญหาทางจิตวิทยาสังคมอย่างน่าเป็นห่วง
         ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๙ เป็นต้นมาจนถึงฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศโดยยึดหลัก“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญานำทางในการพัฒนา ยึดทางสายกลาง อยู่บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี และความพอประมาณอย่างมีเหตุผล นำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สามารถพึ่งตนเองมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันโลก คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาและรู้จักการเรียนรู้สามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและคุณค่าทางสังคมไทยที่มีความสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน อันจะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลมีคุณธรรมและยั่งยืน
          จริยธรรมเป็นกลไกของสังคม ทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานของความประพฤติ เป็นสิ่งที่กำหนดว่าอะไรควรประพฤติปฏิบัติ จริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความดีและความถูกต้องในสังคม มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่คุณความดีของสังคมในส่วนรวม จริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญมากและจะต้องปลูกฝังให้กับคนในสังคมเพราะถ้าคนในสังคมเป็นคนดีแล้ว สังคมก็จะมีความสุขแต่ถ้าคนในสังคมไม่ดีก็จะมีความวุ่นวาย เดือดร้อนมีการเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่ง แม้จะมีกฎหมายบังคับไว้ คนก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยง ในปัจจุบันปัญหาจากความบกพร่องทางจริยธรรมเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ด้อยการศึกษาและด้อยพัฒนาทางด้านคุณธรรม จริยธรรม สังคมมีแต่ความสับสนวุ่นวาย ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นผู้หนึ่งที่ได้พิจารณาเห็นเหตุการณ์ แล้วกล่าวย้ำเตือนเสมอว่า “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะพินาศ” ศีลธรรมในที่นี้ หมายความถึง คุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาหลายอย่างทางสังคม ซึ่งมีต้นเหตุมาจาก คนในชาติบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรม ทำให้คนจำนวนมากไม่มีเหตุผล ขาดระเบียบวินัย ขาดความรักสามัคคี การที่จะทำให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรม จริยธรรมนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือช่วยกันในการส่งเสริมบทบาทครอบครัวองค์กรทางศาสนา โรงเรียน ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อให้เป็นกลไกเกื้อหนุนให้คนไทยเป็นคนดี มีคุณธรรมมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์สุจริต มีความสามัคคี มีความรักชาติ

          การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้เป็นคนที่รู้จักคิด วิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

      จากสภาพปัญหาดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าทุกระดับให้ความสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้กับ ทุกคนโดยเฉพาะ เด็กและเยาวชนของชาติ ซึ่งจะเป็นอนาคตสำคัญของชาติในภายภาคหน้า โรงเรียนบ้านท่าเสา โดยผู้บริหาร พร้อมด้วยคณะครูในโรงเรียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การดำรงความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและถือว่าเป็นพันธกิจหนึ่งที่จะหล่อหลอมและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีของสังคม เป็นคนเก่งที่มีภูมิปัญญา และมีความสุขในการดำรงชีวิต เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติเหล่านี้จะเป็นผู้จรรโลงให้ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสืบไปและประกอบกับในปี ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุ ๘๒ พรรษา ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสดังกล่าวโรงเรียนบ้านท่าเสาจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์
                    ๑. เพื่อจัดตั้งและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านท่าเสา
                    ๒. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา
                    ๒. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดกับนักเรียน
                    ๓. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง

กระบวนการพัฒนานวัตกรรม
สภาพปัญหาก่อนการพัฒนา
          สภาพชุมชนโดยรอบโรงเรียนบ้านท่าเสามีลักษณะเป็นชุมชนใหม่ ที่อพยพมาจากหลายจังหวัด เช่น สมุทรปราการ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ชลบุรี มีประชากรบางส่วนอพยพมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับจ้างกรีดยางพาราตามไหล่เขาสูงของภูเขา
          พนมสาร์ท อาชีพหลักของชุมชนคือเกษตรกรรมและอาชีพรับจ้าง ด้วยสภาพบริบทของโรงเรียน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน นักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวขาดความอบอุ่นทำให้นักเรียนของโรงเรียนส่วนใหญ่ขาดความพร้อมทางด้านสติปัญญา ขาดความเจริญงอกงามทางศิลธรรม มีสภาพปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยรอบโรงเรียน จากสภาพปัญหาดังกล่าวโรงเรียนจึงมีความคิดที่จะปลูกฝังคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนให้เกิดหลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี ตลอดจนมีความรู้และคุณธรรมโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้กิจกรรมต่างๆในโรงเรียน(ฐานการเรียนรู้ ๒๓ ฐาน)และเชื่อว่าถ้านักเรียนสามารถปฏิบัติได้ดีเป็นประจำในโรงเรียนก็จะสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ในที่สุด

การออกแบบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา
     โรงเรียนได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการออกแบบนวัตกรรมโดยยึดหลักพิจารณาอยู่ ๕ ส่วน ดังนี้
               ๑.กรอบแนวคิดของการออกแบบนวัตกรรมโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยวิกฤติเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
               ๒.คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
               ๓.ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะพร้อม ๆ กันคือ ความพอประมาณ
(Moderation) ความมีเหตุผล(Reasonableness) และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี (Self-immunity) ถ้าขาด คุณลักษณะใดคุณลักษณะหนึ่งไปก็จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความพอเพียง ได้แก่
   
      ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปในมิติต่าง ๆ ของการกระทำ ๕ ประการ คือ
                ๑. ด้านจิตใจ คือ เริ่มต้นจากตนเองต้องตั้งสติ มีปัญญา มีจิตสำนึกที่ดี มีเมตตา เอื้ออาทร มีความเข้าใจและประนีประนอม คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้
                ๒. ด้านสังคม คือ การสร้างความพอดีในทุกระดับของสังคม โดยเริ่มจากครอบครัว ชุมชนและสังคม ซึ่งต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รู้จักผนึกกำลัง และที่สำคัญ มีกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากฐานรากที่มั่นคงและแข็งแรง
                ๓. ด้านเศรษฐกิจ คือ ต้องอยู่อย่างพอดี พอมีพอกิน ไม่หรูหรา ฟุ่มเฟือย
                ๔. ด้านเทคโนโลยี คือ ควรเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะและความต้องการของประเทศ และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สอดคล้องเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของเรา
                ๕. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ ใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรณรงค์รักษาทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด

+ ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ ซื่อตรงและไม่โลภอย่างมาก
+ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
+ เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

    Ø เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อม เพื่อประกอบการวางแผนและการใช้ความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
    Ø เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต

      จากแนวคิดดังกล่าวโรงเรียนบ้านท่าเสาจึงได้พัฒนาและจัดทำศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๒ พรรษาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี การปฏิบัติในระดับตนเองและในระดับองค์กรที่นักเรียนและชุมชนสามารถปฏิบัติได้จริง จำนวน ๒๓ ฐานการเรียนรู้ประกอบด้วย


โดย โรงเรียนบ้านท่าเสา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น