วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กับการปฏิรูปการศึกษาไทยที่เกิดขึ้นได้แบบไม่ต้องรอ!! | School of Changemakers

ในขณะที่การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกพูดถึงมานานกว่า 40 ปี จนจัดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่เกินกว่าจะทำได้ และสามารถเริ่มทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอนโยบาย หลักสูตร หรือมาตรการใดๆ
ตอนที่ 1 : ความสำเร็จเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
ความ สำเร็จของการจัดการศึกษาที่สามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์และศักยภาพของผู้เรียน ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้มีทักษะในการใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นและพัฒนาสังคม
ตอนที่ 2 : จากหนึ่งเป็นร้อยโรงเรียนต้นแบบ
ขยาย ผลจากหนึ่งความสำเร็จสู่ร้อยโรงเรียนต้นแบบที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยการพัฒนาบุคลากรครูให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประยุกต์ ปรับใช้และเป็นต้นแบบขยายผลในพื้นที่ต่อไปจนเกิดเป็น Critical Mass และเกิดการปฏิรูปการศึกษาในที่สุด
ตอนที่ 1 ความสำเร็จเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
คง ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเป้าหมายทางการศึกษาของคนส่วนใหญ่ คือ ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีทักษะทางภาษา สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบและมีความสามารถในการแข่งขัน ผู้ปกครองที่มีฐานะจึงเลือกส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนานา ชาติที่มีกระบวนการเรียนการสอนแตกต่างจากโรงเรียนในระบบการศึกษาทั่วไป เช่นเดียวกับ 'โรงเรียนทางเลือก' ที่มีจำนวนมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งสามารถแบ่งได้อีกหลายระดับ ดังนั้นโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจึงเหมือนถูกจำกัดไว้สำหรับคนมีฐานะ และกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้
ตลอดระยะ เวลา 13 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและพัฒนาศักยภาพ ของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาตั้งอยู่ที่อ.ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีรายได้น้อย โรงเรียนจึงไม่เก็บค่าเล่าเรียนและคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาโดยการจับฉลาก ไม่วัดจากความสามารถหรือข้อสอบ ไม่คัดใครเข้าและไม่คัดใครออก แต่ต้องการให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม และเมื่อจบการศึกษา เด็กทุกคนจะรู้จักตัวเอง สามารถคิด วิเคราะห์ และมีทักษะในแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงแสดงให้เราเห็นว่า อันที่จริงแล้ว “ไม่มีเด็กคนไหนไม่ฉลาด มีแต่เด็กที่ไม่ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี”
โรงเรียน ลำปลายมาศพัฒนา เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จัดการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมทางการศึกษาที่ผสมผสานการพัฒนาผู้เรียนทั้ง ภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. จิตศึกษา เป็นการพัฒนาผู้เรียนจากภายใน สร้างการตระหนักรู้ของเด็กหรือให้นักเรียนรู้สึกตัว รู้ตัวเอง มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งรอบตัวที่กำลังเกิดขึ้น เข้าถึงปัญญาภายใน กระบวนการจิตศึกษาทำให้ผู้เรียนสามารถควบคุมตนเองได้ มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ มีสมาธิ พัฒนาไปสู่การรู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่นและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้ อื่น ทำให้เด็กๆ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกัน


นอก จากนี้ก่อนเริ่มการเรียนรู้ยังมีกิจกรรมการปรับคลื่นสมองให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กแต่ละคนที่เพิ่งวิ่งเล่นมา ปรับความถี่ของคลื่นสมองให้ทุกคนพร้อมรับข้อมูล พร้อมที่จะเรียนรู้ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าการปรับความถี่สมอง มีผลต่อทั้งการเรียนรู้และความจำ (อ่านเพิ่มได้จาก What is the function of the various brainwaves?) อย่างไรก็ตาม การปรับคลื่นสมองแตกต่างจากการบังคับให้เด็กนั่งสมาธิ เนื่องจากการนั่งสมาธิยังไม่เหมาะกับพฤติกรรมของเด็กที่ต้องการทำกิจกรรมที่ สนุก หากบังคับให้เด็กทำจะยิ่งทำให้เด็กเบื่อ ไม่ให้ความร่วมมือและไม่เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการในที่สุด
อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งทุกคนที่มาดูงานโรงเรียนมักจะรู้สึกแปลกใจ คือ คุณครูทุกคนจะพูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงที่เบาและอ่อนโยน เพื่อสอนให้นักเรียนตั้งใจฟังมากขึ้น อีกทั้งเด็กๆ จะไม่รู้สืกว่าครูกำลังดุหรือว่าเขา จึงแสดงออกพฤติกรรมที่ดี ไม่ก้าวร้าว อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องทำร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน ด้วย หากเด็กๆ กลับบ้านแล้วเจอผู้ปกครองดุ เสียงดังใส่ สิ่งที่คุณครูทำก็จะไม่เกิดผลต่อใดๆ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานำผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วน หนึ่งของการจัดการเรียนการสอนด้วย เพื่อให้พ่อแม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าการเรียนการสอนทั้งหมดจะมีผลอย่างไรกับลูกของเขา และลูกๆ จะมีพัฒนาการอย่างไร เมื่อผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้นก็จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาเด็กมากขึ้นด้วย
2. หน่วยบูรณาการที่ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ (Problem Based Learning หรือ PBL) เป็น การเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) ตั้งแต่การคิด ริเริ่มและลงมือทำ โดยเน้นให้ผู้เรียนมองปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว ตั้งคำถามจากปัญหานั้นและค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบนี้จะสามารถพัฒนาทักษะที่เป็นปัญญาภายนอกเช่น การอ่าน การเขียน การนำเสนอ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ และประกอบอาชีพ ความเข้าใจทางคณิตศาสตร์ และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น
จาก การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) เด็กๆ จะได้ตั้งคำถามและแก้ปัญหาในเรื่องที่ตัวเองสนใจหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ชุมชนของตัวเอง เพื่อฝึกทักษะ กระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ เพราะเด็กจะกล้าพูดและแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองคิดจากข้อมูลที่ค้นคว้ามาด้วย ตัวเองและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ โดยไม่มีคุณครูดุว่าหรือตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดนั้นถูกหรือผิด เพราะเมื่อเด็กมีโอกาสค้นคว้าเพิ่มเติม เด็กจะรู้เองว่าตัวเองคิดถูกหรือผิด ด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งโดยรวมคุณครูจะต้องทำงานหนักขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ดีกว่ารูปแบบเดิมๆ เช่นกัน เพราะเมื่อเด็กได้เรียนสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ ได้ลงมือหาคำตอบด้วยตัวเองและสนุกกับมัน เด็กๆ ก็จะสามารถจำและเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หน่วยการเรียนรู้ 'ข้าวมหัศจรรย์' สำหรับเด็กป. 1 ได้แบ่งประเด็นออกเป็น 'สิ่งที่รู้แล้ว' เช่น ข้าวมีประโยชน์ เป็นอาหารของคน และ 'สิ่งที่อยากรู้' เช่น ข้าวเกิดได้อย่างไร ทำไมต้องมีชาวนา ถ้าไม่กินข้าวเราจะกินอะไร จากคำถามเหล่านี้ เด็กๆ ก็จะหาข้อมูล วาดแผนภาพ นำมาเสนอหน้าชั้นเรียนให้ครูและเพื่อนๆ ฟัง และผลงานที่มีสีสันสดใสของเด็กๆ จะถูกนำมาโชว์อยู่ทุกที่ในโรงเรียน เมื่อเดินเข้าไปในอาคารเรียนก็จะเห็นว่าผลงานของเด็กๆถูกติดไว้ทุกที่ และทำให้เด็กภูมิใจกับผลงานของพวกเขา


เมื่อ เด็กโตขึ้น คำถามในประเด็นต่างๆ ก็ยากและท้าทายมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็ก ม.2 ตั้งคำถามประเด็นเรื่องข้าวว่า “ปลูกข้าวอย่างไรให้ได้ผลผลิตเยอะที่สุดและไม่ใช้สารเคมี” คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัญหาที่ผู้ปกครอง และคนในชุมชนกำลังเผชิญอยู่จริง เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี และปัญหาหนี้สินจากการซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ ดังนั้น เด็กนักเรียนจึงมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ ทดลองปลูกข้าวกันเอง และนำความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาได้จริงๆ
ถ้ามองในมุมมองทรัพยากรมนุษย์ ขององค์กรและประเทศชาติ ทักษะการคิด วิเคราะห์และความสามารถแก้ปัญหา ล้วนเป็นทักษะที่ทุกองค์กรต้องการเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็วตลอดเวลา ดังนั้นการบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ (Problem-based Learning, PBL) จึงเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมได้
3. การพัฒนาครูผ่านชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community หรือ PLC) เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูของโรงเรียนต้นแบบที่นำนวัต กรรมการจัดการศึกษาแบบโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไปใช้ โดยมีการจัดทำแผนการเรียนการสอนบนฐานข้อมูลออนไลน์ มีการถ่ายวิดีโอการสอนของครู นำมาดูและพิจารณาว่ามีอะไรที่ควรแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนบ้าง เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจของครูต่อสิ่งที่จะสอนให้เด็กๆ ทำให้ครูมีทักษะการจัดการเรียนการสอน มีความภาคภูมิใจและมีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง

นอก จากนี้การจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมต่างๆ ทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาก็ได้กำหนดตารางการเรียนให้ตรงตามความสนใจและความ พร้อมของเด็กๆ เช่น กิจกรรมจิตศึกษาและกิจกรรมเตรียมความพร้อมของเด็กจะอยู่ในช่วงเช้า กิจกรรม PBL ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย พูดคุยแลกเปลี่ยนกันจะอยู่ในช่วงบ่าย และมีกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบเข้ามาแทรกระหว่างวัน เช่น การเล่นโยคะ เป็นต้น
อีก คำถามหนึ่งที่เราคิดว่าทุกคนคงสงสัยเช่นเดียวกัน คือ เมื่อน้องๆ เรียนจบชั้นม.3 แล้วต้องไปต่อที่โรงเรียนอื่น เขาจะสามารถปรับตัวได้ไหม? ซึ่งคุณครูก็ได้ให้คำตอบอย่างหนักแน่นว่า “ปรับตัวได้สิ น้องๆ โตมาด้วยการแก้ปัญหาตลอดเวลาอยู่แล้ว นี่ก็เป็นแค่อีกปัญหาในชีวิตที่เขาจะต้องหาวิธีแก้ให้ได้“
เมื่อ เขียนมาถึงจุดนี้แล้ว เราก็เริ่มมีความหวังแล้วว่าเด็กๆ ทุกคนในประเทศนี้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพได้ อย่างที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการจัดการศึกษาที่ พัฒนาศักยภาพผู้เรียนสามารถทำได้จริง ด้วยงบประมาณที่ใช้บริหารจัดการต่ำกว่าโรงเรียนทั่วไปอีกด้วย
ตอนที่ 2 จากหนึ่งเป็นร้อยโรงเรียนต้นแบบ
จาก ที่ได้เล่าแล้วว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คือตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการจัดการศึกษาที่สามารถพัฒนาความ เป็นมนุษย์และศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไทย โดยอาศัยการขยายนวัตกรรมการศึกษาจากโรงเรียนต้นแบบหนึ่งโรงเรียน ไปสู่โรงเรียนอีกนับร้อยที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบ (Node) ให้กับโรงเรียนใกล้เคียงอีกมากมาย จนเกิดเป็น Critical Mass ในที่สุด ทั้งนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรครูผ่านชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community หรือ PLC) ที่ เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูของโรงเรียนต้นแบบที่นำนวัต กรรมการศึกษาแบบนี้ไปใช้ เกิดการประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนตนเองมากที่สุด
กระบวนการขยายผลและพัฒนาโรงเรียนของรัฐให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการปฏิรูปการจัดการศึกษา ประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆ ดังนี้
1. กิจกรรม Open eye เปิด โอกาสให้ผู้บริหารและครูจากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน 1 วัน เพื่อให้ครูได้เห็นความสําเร็จของกระบวนการและการใช้นวัตกรรมการศึกษาทั้ง PBL (Problem Based Learning) จิตศึกษา และ PLC (Professional learning Community) และเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งจะจุดประกายให้ครูลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิธีสอนของตัวเองและนำนวัต กรรมการศึกษาทั้ง 3 อย่าง ไปใช้กับโรงเรียนตัวเอง โดยอาจจะเริ่มเพียงบางส่วนหรือทั้งระบบ
2. อบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะครู หลักสูตร 2 วันสำหรับการเรียนรู้บางส่วนและหลักสูตร 5-10 วันสำหรับความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆทั้งระบบ PBL (Problem Based Learning) จิตศึกษา และ PLC (Professional learning Community) ในระหว่างการอบรม แต่ละโรงเรียนได้ทำแผนกิจกรรมและแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ PBL online สามารถดูตัวอย่างและติดตามได้ที่ link ด้านล่าง
โรงเรียนบ้านโค้งกระโดน https://sites.google.com/site/bkindbankhongkradon...
โรงเรียนบ้านปอพราน https://sites.google.com/site/bkindbanpopran/
โรงเรียนชมุชนดอนไพล https://sites.google.com/site/bkindchumchondonpai...
โรงเรียนบ้านโกรกลึก https://sites.google.com/site/bkindbankorkluk/

3. ติดตามผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อแต่ละโรงเรียนนํานวัตกรรมกลับไปใช้ โรงเรียนลําปลายมาศพัฒนาจะทำหน้าที่คอยติดตามผล และทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเครือข่าย PLC ประกอบด้วย
  • ทํา Lesson study สาธิตการสอนและถ่ายทําวีดีโอบันทึกการสอนของครูในทุกชั้นเรียนเพื่อให้ครูได้เรียนรู้จากการสอนมากขึ้น
  • จัด กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปีละ 2-4 ครั้ง และผ่านเครือข่าย PLC online เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน และเพื่อเสริมสร้างพลังให้กับครู กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งล่าสุดจัดเมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ มีโรงเรียนมาเข้าร่วม 20 กว่าโรงเรียน มีผู้บริหารและครูเข้าร่วมกว่าร้อยคน (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
  • จัด Conference ใหญ่ปีละครั้ง เพื่อให้แต่ละโรงเรียนได้นําเสนอความสําเร็จ และสร้างการรับรู้ให้กับสังคม
ครู และผู้บริหารโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ แสดงให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ครูเปลี่ยนท่าทีเป็นการแสดงออกอย่างใจเย็น เป็นมิตรกับเด็กๆ มากขึ้น เด็กๆ ก็มีความสนใจในกิจกรรมการเรียนรู้ มีความสุขกับการเรียน อยากมาโรงเรียน กล้าพูด กล้าตอบคำถาม กล้าแสดงออกความคิดและสื่อสารกับครูมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่ค่อยพูด ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้เด็กๆ ยังมีความรับผิดชอบต่อตนเองได้ดีขึ้นและส่งผลไปถึงครอบครัวอีกด้วย ทำให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ มีการเชิญผู้ปกครองมาเป็นครูอาสาซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
นอก จากนี้ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยระบบการศึกษา IRES จัดทำโครงการร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่ง ในการสร้างหลักสูตรวิชาชีพครูขึ้นใหม่ เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สามารถสอนได้อย่างมืออาชีพ โดยใช้โรงเรียนต้นแบบในเครือข่ายโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นสถานที่สังเกต การณ์ ฝึกสอน ร่วมเรียนรู้ เป็นการพัฒนาครูไปพร้อมกับการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบและพัฒนาให้โรงเรียนให้ เป็นองค์กรเรียนรู้วิชาชีพและเป็นฐานปฏิรูปการศึกษาของชาติ

ปัจจุบัน โมเดลของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ขยายผลไปยังโรงเรียนรัฐบาลจำนวนทั้งสิ้น 60 โรงเรียน เป็นโรงเรียนต้นแบบ (Node) ที่พร้อมขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 10 โรงเรียน มีครูในเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพประมาณ 700 คน ครูทุกคนเปลี่ยนรูปแบบการสอน และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น
นี่คืออีก ก้าวสำคัญที่กำลังจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้ ต้องขอขอบคุณความมุ่งมั่นพยายามของครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่ รวมไปถึงครูทุกคนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่กล้าลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง และจิตวิญญาณของความเป็นครูของโรงเรียนต้นแบบทุกโรงเรียนที่ต้องการสร้างการ ศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมให้กับเด็กๆ
เราเชื่อว่าความกล้าหาญ และจิตวิญญาณความเป็นครูมีอยู่ในตัวคุณครูทุกคน ขอเพียงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรอ...ไม่ต้องรอนโยบายจากภาครัฐ ไม่ต้องรอการปรับหลักสูตรหรือมาตรการใดๆ และจากร้อยโรงเรียนต้นแบบก็จะเพิ่มขึ้นเป็นล้านโรงเรียนที่นักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชนมีความสุข
ความหวังที่เด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ก็จะเป็นจริงได้ในไม่ช้า...
http://www.schoolofchangemakers.com/home/knowledge?knowledge_id=361

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณนะคะ ลูกสาว 2 คน คือผลผลิตจาก ร.ร ลำปลายมาศพัฒนา

    ตอบลบ